10. แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลโคเวเลนต์

         สารโคเวเลนต์ที่เกิดจากอะตอมชนิดเดียวกัน เช่น H2  ในพันธะโคเวเลนต์ อิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะจะเคลื่อนที่อยู่ระหว่างอะตอมทั้งสองที่สร้างพันธะกัน ถ้าพบว่าอิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะเคลื่อนที่อยู่ตรงกลางระหว่างอะตอมพอดี แสดงว่าอะตอมคู่นั้นมีความสามารถในการดึงดูดอิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะเท่ากัน แต่ถ้าพบว่าอิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะเคลื่อนที่อยู่ใกล้อะตอมใดอะตอมหนึ่งมากกว่าอีกอะตอมหนึ่งแสดงว่าอะตอมคู่นั้น มีความสามารถในการดึงดูดอิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะไม่เท่ากัน ดังภาพ
อิเล็กตรอนถูกดึงดูดเท่า ๆ กัน
อิเล็กตรอนถูกดึงดูดไม่เท่ากัน







ค่าที่บอกถึงความสามารถในการดึงดูดอิเล็กตรอนของธาตุที่สร้างพันธะกัน เรียกว่า 
ค่าอิเล็กโทรเนกาติวิตี

10.1 ค่าอิเล็กโทรเนกาติวิตี (EN)
ค่าอิเล็กโทรเนกาติวิตีนำไปใช้อธิบายสภาพขั้วของพันธะโคเวเลนต์ได้
1. ถ้าพันธะโคเวเลนต์เกิดจากอะตอมที่มีค่าอิเล็กโทรเนกาติวิตีเท่ากัน เช่น พันธะในโมเลกุลของ H2 , O2 , N2 , F2 , Br2 , I2 , P4 อิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะจะอยู่ตรงกลางระหว่างอะตอมทั้งสองเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจกล่าวได้ว่าอิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะจะถูกนิวเคลียสของอะตอมทั้งสองดึงดูดด้วยแรงเท่าๆ กัน เรียกพันธะโคเวเลนต์ที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ว่า พันธะโคเวเลนต์ไม่มีขั้ว (Non-polar covalent bond)
2. ถ้าพันธะโคเวเลนต์เกิดจากอะตอมที่มีค่าอิเล็กโทรเนกาติวิตีต่างกัน อะตอมที่มีค่าอิเล็กโทรเนกาติวีตีมากกว่า จะดึงอิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะเข้ามาใกล้ตัวมันเอง อะตอมนี้จะแสดงอำนาจไฟฟ้าเป็นลบ และอะตอมที่มีค่าอิเล็กโทรเนกา-ติวิตีน้อยกว่าจะถูกดึงอิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะไปอะตอมนี้จะแสดงอำนาจไฟฟ้าบวก เรียกพันธะโคเวเลนต์ชนิดนี้ว่า พันธะโคเวเลนต์มีขั้ว (polar covalent bond)

3. การแสดงขั้วของพันธะโคเวเลนต์ ใช้สัญลักษณ์  δ+ (อ่านว่า เดลต้าบวก) สำหรับอะตอมที่แสดงอำนาจไฟฟ้าค่อนข้างบวก และ δ- (อ่านว่า เดลต้าลบ) สำหรับอะตอมที่แสดงอำนาจไฟฟ้าค่อนข้างลบ หรืออาจใช้เครื่องหมาย โดยหัวลูกศรจะชี้ไปในทิศทางที่อะตอมแสดงอำนาจไฟฟ้าค่อนข้างลบ ส่วยท้ายลูกศรซึ่งแสดงคล้ายกับเครื่องหมายบวก ดังนั้น ขั้วของพันธะ H-F จะเขียนแสดงได้ดังนี้

10.2  สภาพขั้วของโมเลกุล
วิธีพิจารณาว่าโมเลกุลใดมีขั้วหรือไม่มีขั้ว มีหลักดังนี้
1.      กรณีโมเลกุลที่มีเพียง 2 อะตอม
-        -  ถ้าโมเลกุลโคเวเลนต์มีเพียง 2 อะตอมและเป็นอะตอมของธาตุชนิดเดียวกัน พันธะที่เกิดขึ้นในโมเลกุลเป็นพันธะโคเวเลนต์ไม่มีขั้ว (Non-polar covalent bond) และเป็นโมเลกุลไม่มีขั้ว (Non-polar molecules) เช่น  H2 , O2 , N2 , F2 , Br2 , I2  เป็นต้น
-        -  ถ้าโมเลกุลโคเวเลนต์มีเพียง 2 อะตอมและเป็นอะตอมของธาตุต่างชนิดกัน พันธะที่เกิดขึ้นในโมเลกุลเป็นพันธะโคเวเลนต์มีขั้ว (Polar covalent bond)  และเป็นโมเลกุลมีขั้ว (Polar molecules)  เช่น HF  HCl และ HBr เป็นต้น
2.      กรณีโมเลกุลที่มี 3 อะตอม หรือมากกว่า
-        -  ถ้าโมเลกุลที่เกิดจากพันธะมีขั้ว (Polar covalent bond) และรูปร่างของโมเลกุลสมมาตร โมเลกุลนั้นจะเป็นโมเลกุลไม่มีขั้ว (Non-polar molecules) เพราะมีผลรวมของทิศทางของแรงดึงดูดอิเล็กตรอนทั้งหมดในโมเลกุลเป็นศูนย์ เช่น

รูปที่ 2 แสดงโมเลกุลที่มีรูปร่างสมมาตรและเป็นโมเลกุลไม่มีขั้ว

จะพบว่าในโมเลกุลโคเวเลนต์ที่อะตอมกลางสร้างพันธะกับอะตอมของธาตุชนิดเดียวกันและไม่มีเวเลนต์อิเล็กตรอนเหลืออยู่ แม้ว่าในโมเลกุลจะประกอบด้วยพันธะมีขั้วแต่โมเลกุลอาจไม่มีขั้วได้ ทั้งนี้เพราะว่าโมเลกุลมีรูปร่างสมมาตรทำให้อำนาจไฟฟ้าที่มีขนาดเท่ากัน แต่ทิศทางตรงข้ามกันหักล้างกันหมดไป ถ้าโมเลกุลที่เกิดจากพันธะมีขั้ว และรูปร่างของโมเลกุลไม่สมมาตร โมเลกุลนั้นจะเป็นโมเลกุลมีขั้ว เพราะมีผลรวมของทิศทางของแรงดึงดูดอิเล็กตรอนทั้งหมดในโมเลกุลไม่เท่ากับศูนย์หรือมีแรงลัพธ์

รูปที่ 3 แสดงโมเลกุลที่มีรูปร่างไม่สมมาตรและเป็นโมเลกุลมีขั้ว