1. การเกิดพันธะโคเวเลนต์

          พันธะโคเวเลนต์ (covalent bond) คือ พันธะเคมีที่เกิดจากอะตอม 2 อะตอม ที่ใช้เวเลนซ์อิเล็กตรอนร่วมกัน เพื่อให้อะตอมแต่ละอะตอมมีเวเลนซ์อิเล็กตรอนครบ 8 เหมือนแก๊สเฉื่อย การเกิดพันธะโคเวเลนต์ เมื่ออะตอม 2 อะตอม เข้ามาใกล้กันจะทำให้เกิดแรงดึงดูดระหว่างอิเล็กตรอนกับโปรตอนในนิวเคลียสของทั้งสองอะตอม และในขณะเดียวกันก็มีแรงผลักระหว่างโปรตอนกับโปรตอน และอิเล็กตรอนกับอิเล็กตรอน ของแต่ละอะตอมด้วย แรงดึงดูดที่ทำให้อะตอมทั้งสองเข้ามาใกล้กันทำให้พลังงานศักย์ของอะตอมลดลง เมื่ออะตอมทั้งสองเข้าใกล้ในระยะที่เหมาะสมและมีพลังงานศักย์ต่ำสุด อะตอมทั้งสองจะใช้อิเล็กตรอนร่วมกันและเกิดเป็นโมเลกุลขึ้น แรงยึดเหนี่ยวที่ทำให้อะตอมอยู่รวมกันได้ในลักษณะนี้ เรียกว่า พันธะโคเวเลนต์ และสารประกอบที่มีพันธะโคเวเลนต์ เรียกว่า สารโคเวเลนต์
 
รูปที่ 1 แสดงการเกิดพันธะโคเวเลนต์ของแก๊สไฮโดรเจน

          พันธะโคเวเลนต์เกิดจากอะตอมส่งอิเล็กตรอนออกมาฝ่ายละเท่าๆ กัน ใช้อิเล็กตรอนร่วมกันให้อะตอมมีเวเลนซ์อิเล็กตรอนครบ 8 (เป็นไปตามกฎออกเตต) เช่น การเกิดโมเลกุลของคลอรีนอะตอมของคลอรีนมีการจัดเรียงอิเล็กตรอนเป็น 2 , 8 , 7 ดังนั้น คลอรีนมีเวเลนซ์อิเล็กตรอน = 7 จึงต้องการอิเล็กตรอนอีก 1 ตัว เพื่อให้เวเลนซ์อิเล็กตรอนครบ 8 อะตอมจึงจะเสถียร
          สัญลักษณ์แบบจุดของลิวอิส ประกอบด้วยสัญลักษณ์แทนนิวเคลียสกับอิเล็กตรอนในชั้นถัดจากเวเลนซ์อิเล็กตรอนเข้าไป และจุดรอบสัญลักษณ์แทนจำนวนเวเลนซ์อิเล็กตรอนของธาตุนั้น ๆ อิเล็กตรอนที่อะตอมใช้ร่วมกัน เรียกว่า อิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะ (Bonding pairs) และในบางโมเลกุลยังมีอิเล็กตรอนที่ไม่ได้ใช้ร่วมในพันธะ เรียกว่า อิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยว
(Lone pairs) หรืออิเล็กตรอนคู่อิสระ หรืออาจจะใช้เส้น 1 เส้นแทนอิเล็กตรอนคู่ร่วมพันธะ 1 คู่ ระหว่างอะตอมทั้งสอง